การแทรกสอดความสัมพันธ์ทวิภาคี

ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล1

ความสัมพันธ์ทวิภาคีหรือสองฝ่ายระหว่างสองรัฐหรือสองประเทศนั้น ตามหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศเป็นเรื่องของประเทศคู่กรณี ประเทศที่สามหรือประเทศที่มิใช่คู่กรณีหรือคู่สัญญาจะเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ หลักประกันการไม่แทรกแซงคือกฏหมายระหว่างประเทศที่บัญญัติไว้หลายรูปแบบและหลายลักษณะในกฏบัตรสหประชาชาติ อาทิ หลักการไม่ใช้กำลัง “non-use of force” (ข้อ 2 วรรค 4) หลักการไม่แทรกแซง “non-intervention” และ หลักการไม่แทรกสอด “non-interference” (ข้อ 2 วรรค 7)

หลักดังกล่าวนี้กำหนดไว้ชัดเจนในจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทวิภาคี ภาษิตลาตินซึ่งมาจากกฎหมายโรมันใช้ถ้อยคำว่า “pacta tertii nec nocent nec prosunt” หมายถึงสนธิสัญญาหรือสัญญานั้นๆ ย่อมไม่เอื้อประโยชน์หรือก่อพันธกรณีให้ประเทศที่สาม รัฐที่สามหรือองค์การระหว่างประเทศจึงไม่มีอำนาจหรือสิทธิใดๆที่จะเข้ามาแทรกแซงเรื่องไทยกับกัมพูชาซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทยไม่จำเป็นต้องอาศัยบันทึกความเข้าใจหรือ MOU เพื่อยืนยันหลักกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะ MOU ไม่ผูกพันประเทศที่สามหรือรัฐอื่น ความขัดแย้งใดๆ ระหว่างรัฐอยู่ในข่ายบังค้บของข้อบทที่ 33 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ส่วนการเจรจานั้น หากจะกระทำในประเทศที่สามก็สามารถทำได้ แต่เป็นเพียงการใช้สถานที่เท่านั้น

อนึ่ง ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในของแต่ละรัฐไม่ว่าไทยหรือกัมพูชา ประเทศที่สามหรือองค์การระหว่างประเทศไม่มีอำนาจหน้าที่เข้ามาแทรกสอด (กฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 2 วรรค 7) ดังกรณีตัวอย่างมากมายในรายงานสหประชาชาติทั้งในมติที่ประชุมสมัชชา และมติของคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) เว้นไว้แต่กรณีที่กระทบถึงการละเมิดสันติภาพ (Breach of the Peace) หรือการคุกคามสันติภาพ (Threat to the Peace) ในระดับนานาชาตินอกเหนือจากกิจการภายในหรือความสงบเรียบร้อยของแต่ละรัฐ

เนื่องจากไทยและกัมพูชาต่างก็เป็นสมาชิกสหประชาชาติ กฎบัตรสหประชาชาติย่อมผูกมัดทั้งสองประเทศ ข้อ 2 วรรค 7 และข้อ 33 ของกฏบัตรฯ จึงเป็นหลักประกันการไม่แทรกสอดของประเทศที่สามหรือองค์การระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็นต้องใช้ MOU หรือ JBC ตอกย้ำหลักกฏหมายระหว่างประเทศตามกฎบัตรหรือจารีตประเพณีระหว่างประเทศแต่อย่างใด อนึ่ง นอกจากไม่ช่วยในการสกัดกั้นการแทรกสอดของมือที่สาม ข้อความบางตอนในเอกสารดังกล่าวยังส่งผลให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอันเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

จุดอ่อนของประเทศหรือรัฐบาลไทยไม่แตกต่างจากประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วไป คือไม่ศึกษาหรือให้ความสนใจกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกฎบัตรสหประชาชาติ หรือแม้แต่กฏบัตรอาเซี่ยนหรือปฎิญญาบันดุง หากไทยให้ความสำคัญกับพันธกรณีระหว่างประเทศเบื้องต้น ก็จะสามารถดำเนินการและปฏิบัติตามอย่างถูกต้องและชอบธรรม โดยเฉพาะปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชาในปัจจุบัน ไทยไม่ควรหวั่นวิตกว่าจะมีประเทศที่สามหรือองค์การระหว่างประเทศเข้ามาแทรกสอดในกิจการภายในหรือความสัมพันธ์ทวิภาคี

ฉะนั้น ไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสนใจศึกษากฎหมายระหว่างประเทศอย่างละเอียดและลึกซึ้ง ต้องมีความแม่นยำในตัวบทกฎหมาย กฎบัตรสหประชาชาติ และสนธิสัญญา ทั้งนี้ เพื่อความพร้อมในการเผชิญปัญหาระหว่างประเทศด้วยความมั่นใจในสถานะภาพของตนเอง

หน้าที่ของปวงชนชาวไทยคือรักษาไว้ซึ่งสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทับซ้อน หรือแสวงหาทรัพยากรหรือพลังงานในพระราชอาณาเขตประเทศไทยโดยมิชอบด้วยกฏหมาย

ศ. ดร. สมปอง สุจริตกุล
วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

  1. ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล

    • ศาสตราจารย์เกียรติคุณกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยโกลเดนเกท ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
    • สมาชิกสถาบันอนุญาโตตุลาการองค์การกฎหมายเอเชีย-แอฟริกา ณ กรุงไคโร และกัวลาลัมเปอร์
    • อดีตเลขาธิการอาเซียน (ประเทศไทย)
    • อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส โปรตุเกส อิตาลี กรีก อิสราเอล และองค์การตลาดร่วมยุโรป
    • อดีตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำ UNECO และ FAO
    • อดีตสมาชิกศูนย์ระงับข้อพิพาทการลงทุนศาลอนุญาโตตุลาการธนาครโลก ICSID World Bank
    • อดีตกรรมาธิการสหประชาชาติเพื่อการพิจารณาค่าชดเชยความเสียหายในประเทศคูเวต (UNCC)
    • ทนายผู้ประสานงานคณะทนายฝ่ายไทยในคดีปราสาทพระวิหาร ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. ๑๕๐๒-๒๕๐๕

    []

Posted in แขกรับเชิญ and tagged . Bookmark the permalink. Print

About n/e

ชายไทยไม่ระบุชื่อ สิ่งมีชีวิตเขตร้อน เกิดและเติบโตเหนือเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย รักในกาแฟรสขมเข้ม นิยมความเงียบ กินอยู่หลับนอนกับแมว ๑๒ ชีวิต

Namecheap coupon 10% off web hosting: Cold&gold;
Namecheap.com - Cheap domain name registration, renewal and transfers - Free SSL Certificates - Web Hosting

Comments are closed.